ความสำคัญ

โพแทชเป็นแร่ธาตุซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช เป็นวัตถุดิบสำคัญชนิดหนึ่งหรือเรียกได้ว่าเป็น แม่ปุ๋ย ในปัจจุบันทั่วโลกได้นำมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทั้งในด้านการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์ และพืชเพื่อใช้เป็นพลังงาน  เนื่องจากโพแทชสามารถช่วยในการเจริญเติบโตของพืชโดยเฉพาะส่วนรากและผล ช่วยให้พืชสามารถดูดซึมแร่ธาตุอื่นๆได้ดีขึ้น สร้างภูมิต้านทานต่อโรคและแมลงต่างๆ รวมถึงพืชผลและเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูงขึ้น

ความต้องการใช้แม่ปุ๋ยโพแทชมากขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ในประเทศไทยมีการนำเข้าโพแทสเซียมคลอไรด์ประมาณ 700,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียยังมีความต้องการโพแทชถึงปีละประมาณ 12 ล้านตัน คิดเป็นการบริโภคแร่โพแทชถึงร้อยละ 30 ของปริมาณแร่โพแทชทั้งหมดที่ผลิตได้ในโลก

แร่โพแทชนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใด

          ประโยชน์หลักๆ ของแร่โพแทช คือ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามส่วนผสมสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี ซึ่งได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โดยปุ๋ยโพแทสเซียมมีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มผลผลิตและป้องกันโรคให้แก่พืชผล

การทำเหมืองแร่โพแทช สำคัญอย่างไร

          ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช โดยไม่สามารถใช้ปุ๋ยอื่นๆทดแทนได้ เนื่องจากปุ๋ยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและหน้าที่แตกต่างต่างกัน ในขณะที่ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่โพแทชในแต่ละปีประมาณ 700,000 ตัน คิดเป็นจำนวนเงินที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียในแต่ละปี สูงถึงกว่า 9,000 ล้านบาท ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงการเหมืองแร่โพแทชได้สำเร็จ ราคาปุ๋ยเคมีก็มีแนวโน้มที่จะถูกลงจากเดิม เกษตรกรสามารถเข้าถึงปุ๋ยเคมีได้มากขึ้น ช่วยลดงบประมาณของประเทศจากการนำเข้าแร่โพแทชจากต่างประเทศและสร้างรายได้จากการส่งออกขายยังต่างประเทศ ปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท

ประโยชน์ของแร่โปแตซนอกจากนำมาทำเป็นปุ๋ยแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง

          นอกจากแร่โพแทชจะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยเคมีแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์บางประเภท เช่น การผลิตแก้ว ยา สบู่และเซรามิก เป็นต้น


โครงการอุดรโปแตซ มีปริมาณสำรองแร่มากแค่ไหน คุ้มค่ากับการทำเหมืองหรือไม่?

จากการสำรวจแหล่งแร่โพแทชในพื้นที่โครงการฯ พบว่ามีปริมาณแร่สำรองประมาณ 267.79 ล้านตัน วางตัวในแนวค่อนข้างราบที่ความลึกจากผิวดิน เฉลี่ย ประมาณ 315 เมตร โดยมีความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 3.6 เมตร มีค่าคุณภาพแร่เฉลี่ยเท่ากับ 23.24 %K2O (เทียบเท่า 38.10 %KCl) แหล่งแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานีถือเป็นแหล่งแร่โพแทชคุณภาพสูง ซึ่งปริมาณแร่สำรองที่คาดว่าจะทำเหมืองได้คือ 100.51 ล้านตัน เมื่อทำการผลิตแร่แล้ว จะมีหัวแร่โพแทชประมาณ 36.37 ล้านตัน โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 2 ล้านตันต่อปี